ตำแยตัวเมีย ๒

Laportea interrupta (L.) Chew

ชื่ออื่น ๆ
กะลังตังไก่ (ใต้); ว่านช้างร้อง, หาญ, หาน, หานไก่ (เหนือ)
ไม้ล้มลุกปีเดียว มีขนเป็นพิษ โคนต้นแข็ง มักมีสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศเมียออกตามซอกใบใกล้ยอดและมีจำนวนมากกว่าช่อดอกเพศผู้ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กลับหรือทรงรีกว้าง เบี้ยว มีกลีบรวมติดทน เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตำแยตัวเมียชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๐.๕-๑.๕ ม. มีขนเป็นพิษ แตกกิ่งห่างหรือแน่น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัด โคนต้นแข็ง มักมีสีน้ำตาลแดง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือค่อย ๆ สอบเรียว โคนสอบมน ตัด หรือรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีผลึกหินปูนกระจายห่าง ด้านล่างมีผลึกหินปูนทั่วไปตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นโคนใบโค้งขึ้นไปเกือบจดขอบ ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบหรือมากกว่า เส้นใบย่อยแบบคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๕-๑๒ ซม. หูใบยาว ๓-๕ มม. เชื่อมติดอยู่กับก้านใบ ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศเมียออกตามซอกใบใกล้ยอดและมีจำนวนมากกว่าช่อดอกเพศผู้ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก เรียงห่าง ๆ ตามแกนช่อ ดอกสีเขียวอ่อน ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. โป่งเป็นข้อที่ปลาย เกลี้ยง ใบประดับย่อยอาจมีมากกว่า ๑ ใบ ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบรวม ๓-๔ กลีบ รูปสามเหลี่ยมหรือรูปเรือ กว้างและยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแหลมและมีขนคล้ายเขาสัตว์และเป็นพิษ เกสรเพศผู้ ๓-๔ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. โค้งพับลงมีรังไข่ที่เป็นหมันรูปพีระมิดคว่ำ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านบนโป่งและแผ่ออกคล้ายปีก ใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบมีขนาดเล็ก กลีบรวม ๔ กลีบ รูปรี กลีบคู่ข้างยาวประมาณ ๐.๕ มม. หุ้มแนบรังไข่ อีก ๒ กลีบ รูปคุ่ม ยาวประมาณ ๐.๓ มม. อาจพบขนพิษ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่เบี้ยว ยาวประมาณ ๐.๘ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียรูปแถบปลายสุดแยกเป็น ๓ แฉก โค้งพับลง แฉกกลางยาวที่สุดและยาวได้ถึง ๐.๕ มม.

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กลับหรือทรงรีกว้าง เบี้ยว กว้างและยาวประมาณ ๑.๓ มม. มีกลีบรวมและปลายยอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลยาวประมาณ ๑.๕ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตำแยตัวเมียชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขาหรือป่าผลัดใบ โดยเฉพาะใกล้ภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิจิ ตองกา ซามัวร์ นิวแคลิโดเนีย ออสเตรเลีย (ควีนส์แลนด์) และอเมริกา (ฮาวาย).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำแยตัวเมีย ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Laportea interrupta (L.) Chew
ชื่อสกุล
Laportea
คำระบุชนิด
interrupta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Chew, Wee-Lek
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Chew, Wee-Lek (1932-)
ชื่ออื่น ๆ
กะลังตังไก่ (ใต้); ว่านช้างร้อง, หาญ, หาน, หานไก่ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ